อัตราภาษีและการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากกำไรสุทธิ

อัตราภาษี และการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากกำไรสุทธิ


อัตราภาษีนิติบุคคล   

           ก.   กรณีลดอัตราภาษี ให้คำนวณภาษี ดังนี้ 

                 (1.1)  กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (1.2) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ให้คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ

                 (1.2)  กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 30 ล้านบาท ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา

                  โดยในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ให้คำนวณภาษี ในอัตรา ดังนี้

กำไรสุทธิอัตราภาษีร้อยละ
ไม่เกิน 300,000 บาทยกเว้น
เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท15
เกิน 3,000,000 บาท ขึ้นไป20

                (1.3)  กรณีเป็นกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคให้คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ สำหรับรายได้ที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือหรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานฯ ดังต่อไปนี้

                           (ก)  รายได้จากการให้บริการของสำนักงานฯ ได้แก่ วิสาหกิจในเครือหรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานฯ

                           (ข)  ดอกเบี้ยรับ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่สำนักงานฯ ได้กู้มาเพื่อให้กู้ยืมต่อ

                           (ค)  ค่าสิทธิ รวมทั้งค่าสิทธิที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่นำผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของสำนักงานไปใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการแก่สำนักงานฯ วิสาหกิจในเครือหรือสาขาต่างประเทศของสำนักงาน ฯ ทั้งนี้ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของสำนักงานฯ ที่กระทำขึ้นในประเทศไทย

                 (1.4)  กรณีเป็นกิจการนำเข้าส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเขตปลอดอากรหรือระหว่างเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพลังงานให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ให้คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป สำหรับรายได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ บริษัทซึ่งประกอบกิจการที่มีรายได้จากการประกอบธุรกรรมและการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงได้แจ้งการเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพลังงานในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นต้นไป

                 (1.5)  กรณีเป็นกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอ สะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล และมีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการ ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ให้คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิ สำหรับ 3 รอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี 2558 ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึงรอบระยะเวลาบัญชี 2560 ที่สิ้นสุดภายในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

                 (1.6)  กรณีกิจการเป็นศูนย์กลางการหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ ให้คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ

                 (1.7)  กรณีได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้เสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับ

           ข.   ภาษีจากกำไรสุทธิเฉพาะกรณีที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย ์ ลงวันที่16 กันยายน 2535 ร้อยละ 10

 

การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ 

                    บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิและต้องคำนวณภาษีเงินได้ นิติบุคคล และยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ดังนี้

           ก.   การคำนวณเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวล รัษฎากรดังนี้

                 (1)   ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นอกจากที่กล่าวใน (2) ให้จัดทำประมาณการกำไร สุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แล้ว ให้คำนวณและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

                 (2)   ในกรณีบริษัทจดทะเบียนธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้คำนวณและชำระภาษีจากกำไรสุทธิ ของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วัน แรกของรอบระยะเวลาบัญชีตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี

                 ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนี้ให้ถือเป็นเครดิตในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้น รอบระยะเวลาบัญชีคือ เอาไปหักออกจากภาษีที่ต้องเสียจากกำไรสุทธิของทั้งรอบระยะเวลาบัญชีและในกรณีที่ภาษีที่เสีย ไว้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีสูงกว่าภาษีที่จะต้องเสียทั้งรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลก็มีสิทธิขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้

                 กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย น้อยกว่า 12 เดือน ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

           ข.   การคำนวณเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี การคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้คำนวณกำไรสุทธิตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากร โดยนำกำไรสุทธิดังกล่าวคูณด้วยอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคล จะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ต้องชำระ ถ้าคำนวณกำไรสุทธิออกมาแล้วปรากฎว่า ไม่มีกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ บริษัทไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าการจัดทำบัญชีของบริษัทได้จัดทำขึ้นตามหลักบัญชีโดยไม่ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขในประมวลรัษฎากรเมื่อ จะคำนวณภาษีบริษัทจะต้องปรับปรุงกำไรสุทธิดังกล่าวให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากรแล้วจึง คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

การคำนวณกำไรสุทธินิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (รายจ่ายต้องห้าม)

เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี หรือรายจ่ายต้องห้าม

                รายจ่ายต้องห้าม  หมายถึง รายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของนิติบุคคลและได้มีการบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายการ แต่ในทางภาษีไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ขอบเขตรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กำหนดไว้ตามประมวลรัษฎากร

(1)  เงินสำรองต่าง ๆ เป็นรายจ่ายต้องห้าม นอกจาก เงินสำรองดังต่อไปนี้สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ คือ
       (1.1) เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัย เพื่อสมทบทุนประกันชีวิตได้ไม่เกินร้อยละ 65 ของจำนวนเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับ ในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัยซึ่งเอาประกันภัยต่อออกแล้ว ถือเป็นรายจ่ายได้
       (1.2) เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันภัยอื่นที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไรเฉพาะส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 40 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับ ในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัย ซึ่งเอาประกันต่อออกแล้ว ถือเป็นรายจ่ายได้
        (1.3) เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้ที่เกิดจากการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ให้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แต่กรณีเฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฎในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน
        เงินสำรองที่ตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่งและได้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิไปแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต่อมาหากมีการตั้งเงินสำรองประเภทดังกล่าวลดลง ให้นำเงินสำรองส่วนที่ตั้งลดลง ซึ่งได้ถือเป็นรายจ่ายไปแล้วนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตั้งเงินสำรองลดลงนั้น

(2)   เงินที่จ่ายเข้ากองทุนใด ๆ เป็นรายจ่ายต้องห้าม เว้นแต่ เงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ถือเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายเท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533)
         กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หมายถึง กองทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยมีลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้น และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน โดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสม และนายจ้างจ่ายเงินสมทบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุนนั้น

(3)   รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เป็นรายจ่ายต้องห้าม   เว้นแต่ รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ โดยให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี เช่น พนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาเป็นเวลานาน ได้ถึงแก่ความตายในขณะปฏิบัติหน้าที่ บริษัทได้จ่ายเงินสมนาคุณจำนวนหนึ่งให้แก่ครอบครัวของลูกจ้างผู้นั้น โดยไม่มีระเบียบแต่อย่างใด เงินสมนาคุณที่บริษัทจ่ายให้กับครอบครัวของลูกจ้าง เป็นกรณีที่บริษัทจ่ายให้เองโดยไม่มีข้อบังคับ และมิใช่เป็นการจ่ายตามกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา บริษัทจะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
      รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว หมายถึง รายจ่ายที่แต่ละคนควรจะรับภาระในส่วนของตนเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยผู้รับไม่มีความผูกพันในทางธุรกิจการงานกับผู้ให้
       รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา หมายถึง รายจ่ายที่จ่ายไปโดยความรักใคร่ชอบพอกันเป็นการส่วนตัว ซึ่งผู้รับไม่มีความผูกพันว่าจะต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตอบแทน หรือเรียกว่า การให้เปล่า
       รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการกุศล หมายถึง รายจ่ายที่จ่ายไปในการทำบุญทำทาน บริจาคทรัพย์สินช่วยการศึกษา การศาสนา การสังคมสงเคราะห์หรือการอื่น ๆ แต่กรณีนี้กฎหมายยังยอมให้หักได้ในกรณีเป็นการจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะชนทั่ว ๆ ไป ไม่จำกัดว่าเป็นใคร           

(4)   ค่ารับรองหรือค่าบริการ ส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเป็นรายจ่ายต้องห้าม เว้นแต่ ค่ารับรองดังต่อไปนี้สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ มีหลักเกณฑ์ว่า
          ก   ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลซึ่งได้รับรองหรือรับบริการต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เว้นแต่ ลูกจ้างดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย
         
          ข  ค่ารับรองหรือค่าบริการต้อง
              1.  เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น
              2.  เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการ ไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ

          ค  จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนเท่าที่ต้องจ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมหรือคำนวณกำไรสุทธิ ก่อนหักรายจ่ายใดในรอบระยะเวลาบัญชี หรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ทั้งนี้ รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท

          ง.  ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือคำสั่งจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับเงินสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการ เว้นแต่ ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร

(5)   รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน  หรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินเป็นรายจ่ายต้องห้าม แต่หากเป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เช่น บริษัทแห่งหนึ่ง เช่าที่ดินมาเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานและคลังสินค้า บริษัทจ่ายค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่เช่าซึ่งอยู่ใต้พื้นที่ลานคอนกรีตรวมถึงค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่เช่าซึ่งอยู่ใต้พื้นที่อาคารสำนักงานและคลังสินค้า ถือเป็นการทำให้มูลค่าของที่ดินสูงขึ้น บริษัทจึงต้องนำค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่ดังกล่าวไปรวมกับราคาที่ดินและถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
          รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หมายถึง รายจ่ายที่กิจการจ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ต่อกิจการเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี
          รายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ทรัพย์สินดีขึ้น หมายถึง รายจ่ายเพื่อให้อายุการใช้งานของทรัพย์สินเดิมยาวนานขึ้น หรือมีสภาพดีขึ้น

(6)   เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากรค่าปรับทางอาญา ภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นรายจ่ายต้องห้าม
          คำว่า “เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา” หมายถึง เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม และค่าปรับอาญา ตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท รวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญา และเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย ( ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 40/2560 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2560 ที่อ้างอิงคำพิพากษาฎีกา ที่ 1109/2559)

(6ทวิ)   ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำระ และภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นรายจ่ายต้องห้าม เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่ม มิใช่รายได้หรือรายจ่ายของกิจการ เพราะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีขายจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ผู้ที่ถูกเรียกเก็บภาษีก็นำภาษีนั้นมาเครดิต โดยหักออกจากภาษีขายของตนในแต่ละเดือนภาษีหรือขอคืนภาษีที่ถูกเรียกเก็บนั้น ดังนั้น ภาษีที่ถูกเรียกเก็บนั้น เรียกว่า ภาษีซื้อ จึงไม่ถือเป็นรายจ่ายของกิจการ เว้นแต่ ภาษีซื้อต้องห้ามบางลักษณะที่กำหนดไว้ในมาตรา 82/5 (4) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร นำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถนำไปเครดิตภาษีได้ ซึ่งเป็นภาระแก่ผู้เสียภาษี อาทิเช่น
            1. ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
            2. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
            3. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ
            4. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้ หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
            5. ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อนำมาใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อดังกล่าวให้มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาผู้ประกอบการได้ขายหรือให้เช่าอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์
            6. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ที่คำว่า “ใบกำกับภาษี” ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ หรือไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
            7. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งมีข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนดในใบกำกับภาษีที่ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
            8. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (Copy) เป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นซึ่งมีจำนวนหลายฉบับและใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฏอยู่ด้วย
            9. ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
          10. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนำไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
          11. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งรายการต่าง ๆ ได้ถูกแก้ไขหรือถูกเปลี่ยนแปลงเป็นภาษีซื้อต้องห้าม เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
          12. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครองได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
          13. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งมีรายการ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกหรือตัวแทนผู้ออกใบกำกับษี ไม่ได้พิมพ์ขึ้นหรือไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
         
(7)   การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นรายจ่ายต้องห้าม หากมองตามหลักการบัญชีแล้ว การถอนเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ถือเป็นรายจ่ายอยู่แล้ว เป็นการถอนเงินลงทุนหรือเป็นการแบ่งกำไรกัน ไม่เกี่ยวข้องกับการบันทึกรายจ่ายของกิจการแต่อย่างใด

(8)   เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควรเป็นรายจ่ายต้องห้าม
         เจ้าพนักงานมีอำนาจพิจารณารายจ่ายประเภทเงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน เปรียบเทียบกับรายอื่นซึ่งอยู่ในฐานะหรือลักษณะเดียวกัน อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน หรือทำเลเดียวกัน ประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกันหรือลักษณะเดียวกัน

(9)   รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นเป็นรายจ่ายต้องห้าม   เว้นแต่ ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถัดไปได้
         รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หมายความถึง รายจ่ายใด ๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง โดยไม่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ เป็นการตอบแทน

(10)   ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เองเป็นรายจ่ายต้องห้าม เช่น บริษัทตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ได้มาเปิดสำนักงานสาขาในประเทศไทย โดยปลูกอาคารสำนักงานสาขาในประเทศไทย และคิดค่าเช่าปีละ 600,000 บาท ค่าเช่า จำนวน 600,000 บาท ที่บริษัทสาขาในประเทศไทยจ่ายให้กับบริษัทสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศนั้น จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทสาขาในประเทศไทยไม่ได้ เพราะกฎหมายถือได้ว่าบริษัทสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศกับบริษัทสาขาในประเทศไทยเป็นนิติบุคคลเดียวกัน การจ่ายเงินค่าเช่าดังกล่าวถือได้ว่าเป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินที่บริษัทเป็นเจ้าของเองและใช้เองตามมาตรา 65 ตรี (10) แห่งประมวลรัษฎากร

(11)  ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเองถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม

(12)   ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืน เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ หรือผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามเว้นแต่ ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบัน กรณีความเสียหายนั้นมีทางที่จะได้รับการชดใช้ตามสัญญา แต่ถ้าได้รับค่าชดใช้เพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือก็ลงเป็นรายจ่ายได้
          ผลขาดทุนสุทธิ หมายถึง ผลขาดทุนสุทธิทางภาษี คือ ผลต่างของรายได้กับรายจ่ายที่หักได้ตามประมวลรัษฎากรซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
             
(13)   รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม เพราะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนตั้งขึ้นเพื่อมุ่งค้าหากำไร การชำระเงินควรอยู่ภายในวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

(14)  รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม รายจ่ายที่สาขาในประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศได้จ่ายไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นในต่างประเทศเพื่อเป็นค่าตอบแทนการให้ความช่วยเหลือหรือการให้บริการแก่กิจการของสาขาในประเทศไทยที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้าม จะต้องเป็นกรณีที่มีหลักฐานชัดแจ้งว่ารายจ่ายดังกล่าว เป็นรายจ่ายที่จ่ายไป โดยเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
           1. รายจ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือหรือให้บริการของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นนั้นเกี่ยวกับกิจการของสาขาในประเทศไทย
           2. รายจ่ายที่เกี่ยวกับการค้นคว้าและพัฒนา (Research and Development) โดยสาขาในประเทศไทยจะต้องได้รับบริการหรือได้นำผลการค้นคว้าและพัฒนามาใช้ประโยชน์ในกิจการของสาขาในประเทศไทยตามความเป็นจริง
           3. รายจ่ายใดถ้าสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นได้นำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นแล้ว จะนำมาถือเป็นรายจ่ายของสาขาในประเทศไทยอีกไม่ได้
           4. รายจ่ายที่สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นเรียกเก็บมายังสาขาในประเทศไทยจะต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการเป็นที่รับรองทั่วไป (Generally Accepted) และต้องถือปฏิบัติเช่นเดียวกับสาขาในประเทศอื่น ๆ และเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
           จำนวนเงิน หลักเกณฑ์ และวิธีการดังกล่าวข้างต้นที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายของสาขาในประเทศไทยได้ จะต้องมีหลักฐานหรือหนังสือรับรองโดยเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือโดยบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเชื่อถือได้ และหลักฐานหรือหนังสือดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินการธุรกิจของสาขาในประเทศไทยตามความเป็นจริง

(15)  ค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ซึ่งอาจกระทำกันภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ หรืออาจเรียกราคาดังกล่าวว่า การกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing)

(16)  ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม เช่น การทำเหมืองแร่ หรือการทำป่าไม้ ระยะเวลาที่ดำเนินกิจการขุดแร่หรือตัดไม้เพื่อนำไปจำหน่ายนั้น จำนวนสินแร่ในดินหรือจำนวนป่าไม้ย่อมน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด การที่จำนวนสินแร่หรือจำนวนไม้ในเขตที่ได้รับสัมปทานลดน้อยลงหรือจะหมดไปหรือสูญสิ้นไปนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะตีราคาหรือนำมูลค่าที่ลดน้อยลงนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (16) แห่งประมวลรัษฎากร

(17)  ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลงถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม กรณีนี้ห้ามมิให้ตีราคาทรัพย์สินลดลงเพื่อนำมูลค่าที่ลดลงมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพราะการที่กิจการจะตีราคาทรัพย์สินลดลงโดยยังไม่มีการขายทรัพย์สินจริง ๆ นั้น รายการผลขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินลดลงย่อมเป็นรายการที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และเป็นการตีราคาโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งราคาทรัพย์สินนั้นอาจจะยังไม่ได้ลดลงจริง ซึ่งเท่ากับเป็นการนำเอามูลค่าของทรัพย์สินที่ตีราคาลดลงมาเป็นรายจ่ายทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง

(18)  รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม เช่น บริษัทรับจ้างถมที่ และขายทราย-ดินลูกรัง  ซึ่งซื้อมาจากจังหวัดชายทะเล แต่ผู้ขายไม่ได้ออกใบรับให้แต่อย่างใด กรณีนี้บริษัทก็ไม่มีหลักฐานที่เป็นค่าใช้จ่ายของการรับจ้าง แต่หากบริษัทมีหลักฐานการจ่ายเงิน ระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปี จำนวนเงิน รายการที่จ่าย และให้ผู้รับเงินลงชื่อรับไว้พื่อเป็นหลักฐานในการหักเป็นรายจ่าย ซึ่งทำให้บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน ก็ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร

(19)  รายจ่ายใด ๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้วถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม เช่น  บริษัทจ่ายเงินค่าที่ปรึกษา โดยคำนวณจากกำไรของแผนกที่ได้รับ การปรึกษาหารือเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายใด ๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

(20)  รายจ่ายที่มีลักษณะทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (19) ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
          การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี จำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำมาใช้คำนวณกำไรสุทธิในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี

การคำนวณกำไรสุทธินิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ

เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิของนิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ 

(1) รายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษี ในทางบัญชีรายจ่ายบางรายการถือเป็นรายจ่ายได้ แต่ในทางภาษีรายจ่ายดังกล่าว ต้องนำมาบวกกลับเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ

(2) ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เป็นการหักค่าใช้จ่ายสินทรัพย์ถาวรในแต่ละปี เนื่องจากสินทรัพย์ถาวรมีต้นทุนสูง และใช้งานได้เกินกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี โดยหลักการจึงสามารถตัดเป็นรายจ่ายได้ในแต่ละปีเป็นค่าเสื่อมราคา

     หลักเกณฑ์การคิดค่าเสื่อมราคา มีดังนี้

     ข้อ 1  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจะต้องไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

รายการร้อยละ
1. อาคาร 
      -   อาคารถาวร5
      -   อาคารชั่วคราว100
2. ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได5
3. ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า  
     - กรณีไม่มีหนังสือสัญญาเช่าหรือมีหนังสือเช่าที่มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้ โดยเงื่อนไขในการต่ออายุนั้น เปิดโอกาสให้ต่ออายุการเช่าได้ต่อ ๆ ไป10
     -  กรณีมีสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้ หรือมีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้เพียงระยะเวลาอันจำกัด100 หารด้วยจำนวนปีอายุการเช่าและอายุที่ต่อได้รวมกัน
4. ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธี สูตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า  สิทธิประกอบ กิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น 
      -   กรณีไม่จำกัดอายุการใช้10
      -   กรณีจำกัดอายุการใช้100 หารด้วยจำนวนปีอายุการใช้
5. ทรัพย์สินอย่างอื่น นอกจากที่ดินและสินค้า20

          ข้อ   2   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยเลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สินต้องไม่น้อยกว่า 100 หารด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนด โดยเมื่อได้เลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปและอัตราที่จะหักอย่างใดแล้วให้ใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย ในกรณีได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้และให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น

          ข้อ   3   การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ให้คำนวณตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็ม 12 เดือนให้เฉลี่ยหักตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น โดยให้เฉลี่ยเป็นวัน เช่น  บริษัทแห่งหนึ่ง มีรอบระยะเวลาบัญชีปกติตามปีปฏิทิน  ได้ซื้อเครื่องจักร มูลค่า  500,000 บาท  เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2539  คำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร  ดังนี้
                           ค่าเสื่อมราคา ในปี 2539 =  500,000  x  20/100  x  31/365 =  8,493.15  บาท
                           ปกติทรัพย์สินอย่างอื่นหักค่าเสื่อมราคาได้ร้อยละ 20 ของมูลค่า นั่นหมายถึง ได้ทรัพย์สินนั้นมาเต็มรอบระยะเวลาบัญชี
         
          ข้อ   4  กรณีทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือซื้อขายเงินผ่อน ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามราคามูลค่าต้นทุน คือ ราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายเงินผ่อน แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

          ข้อ   5  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา สำหรับทรัพย์สินไม่ว่าในกรณีใดจะหักจนหมดมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นไม่ได้ โดยให้คงเหลือมูลค่าของทรัพย์สินนั้นเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 1 บาท เว้นแต่ ทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์นั่งที่มีมูลค่าต้นทุนเกิน 1 ล้านบาท   ให้คงเหลือมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินเท่ากับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท

          ข้อ   6   ทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์นั่งให้หักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เว้นแต่ เป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้ใช้ในกิจการให้เช่ารถยนต์ ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

          ข้อ   7   การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร และอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนา ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในตารางข้อ 1 ทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องมีลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
                          (1) ต้องไม่เป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้ผลิตสินค้า หรือใช้บริการ เว้นแต่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรดังกล่าวได้ใช้เพื่อการดังต่อไปนี้
                                 (ก) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต
                                 (ข) การทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หรือ
                                 (ค) การปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตหรือเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้เพื่อกิจการของตนเองหรือกิจการของผู้อื่น
                          (2) ต้องเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน โดยมีอายุการใช้งานได้ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และมีมูลค่าต้นทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท
                          (3) ต้องแจ้งการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรเพื่อการวิจัยและพัฒนาตาม (1) โดยใช้แบบ ค.จ.01 พร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานประกอบตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 48) ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรนั้น
         
          ข้อ   8   การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทเครื่องบันทึกการเก็บเงินอาจเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ก็ได้ หรือเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในตารางข้อ 1 ก็ได้ ทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องมีลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนดังต่อไปนี้
                          (1) ต้องเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบกิจการค้าปลีกหรือประกอบกิจการอย่างอื่นซึ่งมิใช่การค้าปลีกที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ แล้วแต่กรณี
                          (2) ต้องเป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่มีลักษณะตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด แต่ไม่รวมถึงส่วนระบบควบคุมกลางของเครื่องคอมพิวเตอร์ (3) ต้องแจ้งการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน
         
          ข้อ   9   การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักได้ดังต่อไปนี้
                          (1) ภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็ม 12 เดือน ให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยจะเลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปวิธีใดก็ได้
                          (2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดขึ้นภายหลัง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ใน (1)
                          ทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง หมายถึง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติทำหน้าที่เสมือนสมองกลใช้สำหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่ง่ายและซับซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์  และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ หมายถึง เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องช่วย หรือเครื่องประกอบกับคอมพิวเตอร์รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ (แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 473) พ.ศ. 2551 ใช้บังคับ 7 สิงหาคม 2551)

        ข้อ   10   การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงานที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดขึ้นภายหลังซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้
                         การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดขึ้นภายหลังซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุนสำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้

        ข้อ   11  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทอาคารถาวรที่บริษัทที่เป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราทั่วไปที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545

        ข้อ   12  ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตสินค้าหรือให้บริการ ในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามอัตราปกติ ทั้งนี้ ทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 (ตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 473) พ.ศ. 2551)

        ข้อ   13   ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน  สามารถเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ในอัตรา ร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุน โดยมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท    ในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ทั้งนี้ ใช้สำหรับทรัพย์สินตามมาตรา 4(5) แห่ง พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 แก้ไขโดย พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 473) พ.ศ. 2551 โดยทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553)

        ข้อ   14   การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินอย่างอื่นตามมาตรา 4(5) ของ พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 145) แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการของตนเองให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 60 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ (ตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 505) พ.ศ. 2553)

        ข้อ   15  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย และได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ได้ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือ ให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 (ตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 537) พ.ศ. 2555)

(3)   การตีราคาทรัพย์สิน
         ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากราคาสินค้าคงเหลือ ให้ถือตามราคาที่พึงซื้อทรัพย์สินนั้นได้ตามปกติ และในกรณีที่มีการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ห้ามมิให้นำราคาที่ตีราคาเพิ่มขึ้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ส่วนทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราเดิมที่ใช้อยู่ก่อนตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยให้หักเพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น

(4)   การโอนทรัพย์สิน         
         ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินได้ เช่น  บริษัทแห่งหนึ่ง จำหน่ายรถยนต์ซึ่งมีราคา 100,000 บาท ซึ่งเป็นราคาตลาด ให้กับผู้จัดการบริษัทในราคา 10,000 บาท  เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินราคาขายรถยนต์ให้เท่ากับราคาตลาดได้
           ราคาตลาด หมายความว่า ราคาของค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย ซึ่งคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันพึงกำหนดโดยสุจริตในทางการค้า กรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินที่มีลักษณะ ประเภท และชนิดเช่นเดียวกัน ณ วันที่โอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน

(5)  การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ       
         เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ดังนี้
         (ก) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (ข) ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตราหรือ ทรัพย์สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และให้คำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
        (ข) กรณีธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

        เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สิน ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น
       
(6)   การตีราคาสินค้าคงเหลือ
          ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าและให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย การคำนวณราคาทุนดังกล่าว เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิธีการทางบัญชีแล้วให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่ จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้

(7)  การคำนวณราคาทุนของสินค้าที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศ
         เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน โดยเทียบเคียงกับราคาทุนของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันที่ส่งเข้าไปในประเทศอื่นได้

(8)  การคำนวณราคาทุนของสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ
         ถ้าราคาทุนของสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาดของวันที่ได้สินค้านั้นมา เว้นแต่ เงินตราต่างประเทศนั้นจะแลกได้ในอัตราทางราชการก็ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราทางราชการนั้น

(9)   การจำหน่ายหนี้สูญ
         การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สามารถกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) แต่ถ้าได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หนี้สูญรายใดได้นำมาคำนวณเป็นรายได้แล้วหากได้รับชำระในภายหลังก็มิให้นำมาคำนวณเป็นรายได้อีก เช่น  ห้างฯ ให้ลูกค้าเช่าซื้อสินค้า โดยมีมูลค่าเช่าซื้อแต่ละรายไม่ถึง 100,000 บาท และลูกค้าและผู้ค้ำประกันได้นำสินค้าไปขายต่อแล้วหลบหนีไป ไม่ทราบที่อยู่แน่นอน ไม่สามารถติดตามได้ และไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะชำระหนี้ได้ โดยห้างฯ ได้มีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ คือ (1) หนังสือบอกกล่าวทวงถามลูกหนี้ของทนายความและใบตอบรับการส่งหนังสือดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง แล้วยังไม่ได้รับชำระหนี้  และ (2) รายงานการติดตามและสืบทรัพย์ลูกหนี้โดยมีผู้ใหญ่บ้านหรือเพื่อนบ้านข้างเคียงลงชื่อรับรองกรณีดังกล่าว เมื่อห้างฯ มีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ถือได้ว่ามีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีแล้ว แต่ไม่ได้รับรับชำระหนี้ และหากจะฟ้องลูกหนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ ดังนั้น หลักฐานดังกล่าวจึงสามารถใช้เป็นหลักฐานการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้
                                                      
(10)   การคำนวณเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไร ให้ถือเป็นรายได้ ดังนี้
           ผู้จ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไร  เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อการส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และกิจการร่วมค้า
           ผู้รับเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไร  มีเงื่อนไขการคำนวณเป็นรายได้ ดังนี้
           - เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ได้รับยกเว้นกึ่งหนึ่ง
           - เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นทั้งหมด
           - เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล และบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินปันผลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ได้รับยกเว้นทั้งหมด
           การยกเว้นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไร ผู้รับต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่เป็นเหตุเกิดเงินได้นั้นไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนวันประกาศจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไร และต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3 เดือนนับแต่วันประกาศจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรด้วย เช่น  บริษัท ก. ถือหุ้นในบริษัท ข. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง และถือหุ้นไว้เกินกว่า 3 เดือนนับแต่วันที่ได้ซื้อหุ้นจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล และยังคงถือหุ้นต่อไปอีกเกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับเงินปันผล  และบริษัท ข. ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัท ก. ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม  ดังนั้น เงินปันผลที่บริษัท ก. ได้รับ ไม่ต้องมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

(11)  ดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงเท่าที่เหลือจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามกฎหมายดังกล่าว (ซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ตามมาตรา 25(10) ห้ามมิให้นำค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แต่ให้ยกเว้นภาษีเงินได้แก่ผู้ได้รับดอกเบี้ย โดยให้นำเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายมาคำนวณเป็นรายได้)

(12)  เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี  ณ ที่จ่ายไว้ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงเท่าที่เหลือจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามกฎหมายดังกล่าว และหากผู้รับเป็นบริษัทจดทะเบียนหรือเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำบทบัญญัติข้อ (10) มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่ง  แต่หากเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  หรือเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล และบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินปันผลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ให้ได้รับยกเว้นทั้งหมดด้วย)

(13)   มูลนิธิหรือสมาคม ที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ ไม่ต้องนำเงินค่าลงทะเบียน หรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาค หรือจากการให้โดยเสน่หา แล้วแต่กรณี มารวมคำนวณเป็นรายได้

(14)   ภาษีมูลขาย ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับหรือพึงได้รับ และภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้รับคืนจากการขอคืน ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ (เนื่องจากภาระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นของผู้บริโภค บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเพียงคนกลางที่รับภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วส่งต่อให้รัฐบาลผ่านกรมสรรพากรเท่านั้น มิได้ถือเป็นรายได้ของกิจการแต่อย่างใด)

ภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากกำไรสุทธิ

นิติบุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้คำนวณจากกำไรสุทธิ

1)   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

         ก.   บริษัท จำกัด

         ข.   บริษัทมหาชน จำกัด

         ค.   ห้างหุ้นส่วน จำกัด

         ง.   ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

         ในกรณีที่บริษัทห้างห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยมีสาขาไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอก ประเทศไทย จะต้องนำกำไรสุทธิของสาขามารวมกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใน ประเทศไทย

(2)   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

         บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ได้แก่

         (ก)   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย ได้แก่

                 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศดังกล่าว จะต้องนำกำไรสุทธิเฉพาะ ที่ได้จากการกระทำกิจการในประเทศไทยมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

         (ข)   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบุคคลผู้จ้างเป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และ ความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรดังกล่าว

(3)   กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

(4)   กิจการร่วมค้า


รอบระยะเวลาบัญชีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

                    ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิ ต้องคำนวณกำไรสุทธิ จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจาก กิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี ซึ่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งๆ ไว้ดังนี้

(1)   รอบระยะเวลาบัญชีโดยทั่วไปตามบทบัญญัติมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องเท่ากับ 12 เดือน โดยจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใดก็ได้

(2)   รอบระยะเวลาบัญชีซึ่งน้อยกว่า 12 เดือน กรณีที่กฎหมายยอมให้รอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน ได้ มีเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ คือ

         ก.   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่ จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะ เวลาบัญชีแรกก็ได้ แต่รอบระยะเวลาบัญชีต่อไปต้องเท่ากับ 12 เดือน

         ข.   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจยื่นคำร้องขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีก็ได้ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรจะเห็นสมควรและสั่งอนุญาตซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนจะน้อยกว่า 12 เดือน

         ค.   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เลิกกันให้ถือเอาวันที่เจ้าพนักงานจดทะเบียนเลิกเป็น วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

         ง.   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเลิกกัน รอบระยะเวลาบัญชีที่ควบเข้ากันจึงเป็นไปตาม (ค) ซึ่งอาจน้อยกว่า 12 เดือน

         ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการและยังชำระบัญชี ไม่เสร็จ หากมีกำไรสุทธิเกิดขึ้น จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลเพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถือว่าบริษัทยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่ตราบเท่าที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้น

(3)   รอบระยะเวลาบัญชีมากกว่า 12 เดือน รอบระยะเวลาบัญชีอาจขยายออกไปมากกว่า 12 เดือนก็ได้ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติ บุคคลเลิกกิจการ หากผู้ชำระบัญชี และผู้จัดการไม่สามารถยื่นรายการและเสีย ภาษีได้ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว ถ้าได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีภายใน 30 วันนับแต่วัน ที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก อธิบดีกรมสรรพากรอาจพิจารณาอนุมัติให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปได้ ซึ่งรอบระยะ เวลาบัญชีรอบนี้อาจเกิน 12 เดือนก็ได้)


กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

                    ตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ ซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องใช้เกณฑ์สิทธิ หมายถึง ให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ในกรณีจำเป็นผู้มีเงินได้จะขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิและวิธีการทางบัญชี เพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายตามเกณฑ์อื่นก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป


วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี

วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีจะต้องทำอย่างไร

                โดยทั่วไปผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้พึงประเมินทุกประเภทของตน ตลอดปีภาษี (ไม่รวมเงินได้ที่กฎหมายยกเว้นภาษี หรือที่ไม่ต้องเสียภาษี) ไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่มีเงินได้ การคำนวณภาษีให้ทำเป็น 3 ขั้น คือ

ขั้นที่หนึ่ง คำนวณหาจำนวนภาษีตาม วิธีที่ 1 เสียก่อน
การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1

เงินได้พึงประเมินทุกประเภทรวมกันตลอดปีภาษีxxxx(1)
หัก ค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนดxxxx(2)
(1)-(2) เหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายxxxx(3)
หัก ค่าลดหย่อนต่าง ๆ (ไม่รวมค่าลดหย่อนเงินบริจาค) ตามที่กฎหมายกำหนดxxxx(4)
(3)-(4) เหลือเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนต่าง ๆxxxx(5)
หัก ค่าลดหย่อนเงินบริจาค ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดxxxx(6)
(5-6) เหลือเงินได้สุทธิxxxx(7)
นำเงินได้สุทธิตาม (7) ไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  
จำนวนภาษีตามการคำนวณภาษีวิธีที่ 1xxxx(8)

ขั้นที่สอง ให้พิจารณาว่าจะต้องคำนวณภาษีตาม วิธีที่ 2หรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไขที่จะต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 จึงคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 อีกวิธีหนึ่ง กรณีที่ต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 ได้แก่ กรณีที่เงินได้พึงประเมินทุกประเภทในปีภาษี แต่ไม่รวม เงินได้พึงประเมินตามประเภทที่ 1 มีจำนวนรวมกันตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 นี้ ให้คำนวณในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน (= เงินได้พึงประเมินทุกประเภทลบเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 คูณด้วย 0.005) ดังกล่าวนั้น

ขั้นที่สาม สรุป จำนวนภาษีที่ต้องเสียภาษี กำหนดให้ (10) คือ จำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 2

การคำนวณภาษี

จำนวนภาษีเงินได้สิ้นปีที่ต้องเสีย เทียบ (8) และ (10) จำนวนที่สูงกว่าxxxx(11)
หัก ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้วxx  
ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่ชำระไว้แล้วxx  
ภาษีเงินได้ชำระล่วงหน้าxx  
เครดิตภาษีเงินปันผลxxxx(12)
(11-12) เหลือ ภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย (หรือที่เสียไว้เกินขอคืนได้)xx

หมายเหตุ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป หากคำนวณตามวิธีที่ 2 แล้วมีภาษีเงินได้ที่ต้องเสียจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท ผู้มีเงินได้ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามวิธีที่ 2 ( 10 ) แต่ยังคงมีหน้าที่เสียภาษีตามจำนวนที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 1 ( 8 ) โดยนำมาสรุปจำนวนภาษีที่ต้องเสียขั้นที่สาม


การหักค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับหักเป็นต้นทุนในการทำงาน เพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธินั้นมาคิดภาษีตามบัญชีอัตราภาษี โดยมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยตามแต่ละประเภทของเงินได้ สรุปได้ดังนี้

ประเภทเงินได้

หักค่าใช้จ่าย

1. เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง

50% ไม่เกิน 100,000 บาท
หากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภท
รวมกันแต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท

2. เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ฯลฯ
3. ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น

50% ไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามจริง

4. ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร ฯลฯ

หักค่าใช้จ่ายไม่ได้

5. รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
    - บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ
    - ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร
    - ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร
    - ยานพาหนะ
    - ทรัพย์สินอื่น


ตามจริงหรืออัตราเหมา
30%
20%
15%
30%
10%

6. วิชาชีพอิสระ
    - ประกอบโรคศิลปะ
    - กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม

ตามจริงหรืออัตราเหมา
60%
30%

7. รับเหมาก่อสร้าง

ตามจริงหรืออัตราเหมา 60%

8. รายได้อื่น นอกเหนือจาก 1-7 *

ตามจริงหรืออัตราเหมา 40% และ 60%

* ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560


การหักลดหย่อน

ค่าลดหย่อนและยกเว้นเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษีที่กฎหมายกำหนดให้นำไปหักออกจากเงินได้ได้อีกหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว โดยมีการหักลดหย่อนกรณีต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป สรุปได้ดังนี้

(1) กรณีบุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
      1. ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
      2.คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท
      3. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
      4. บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้
        - บุตรชอบด้วยกฎหมาย หักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวน
        - บุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
        - กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่จำนวนตั้งแต่ 3 คน จะนำบุตรบุญธรรมมาหักอีกไม่ได้
        - กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้รวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
        บุตรที่นำมาหักลดหย่อนต้องไม่มีเงินได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป และเข้าหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
        - เป็นผู้เยาว์
        - บุตรมีอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา
        - เป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู
        การนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร โดยนับรวมบัตรที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการลดหย่อนด้วย
      5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท หักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
      6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท
      7. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ หากคู่สมรสมีการประกันชีวิต และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
          (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึง มาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
         (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
         (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
      8. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาท
      9. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างให้หักจากเงินได้
     10. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
     11. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
     12. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
     13. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมระยะยาวต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนรวมหุ้นระยะยาว เพราะทุพพลภาพหรือตาย
     14. ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม หักค่าลดหย่อนตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
     15. เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
     16. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเงินฝากที่จ่ายไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
     17. เงินบริจาค
            - เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
            - เงินบริจาคสาธารณประโยชน์ หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ได้แก่ เงินบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น เงินบริจาคในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน เงินบริจาคในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวก เงินบริจาคให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา และเงินบริจาคเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดแก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เงินบริจาคให้กองทุนพัฒนาสิ่งปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนเสริมงานวัฒนธรรม กองทุนเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุหรือกองทุนโบราณคดี และเงินบริจาคให้สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน (แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ)
            - เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หักลดหย่อนได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ต้องบริจาค ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2560 และระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม - 31 ตุลาคม 2560 มติ ครม. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ขยายระยะเวลาให้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
            - เงินบริจาคทั่วไป หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
     เพิ่มเติม
     ลดหย่อนตามมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
       1. ค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (บ้านหลังแรก) หักลดหย่อนสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ฯ ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3,000,000 บาท แต่ไม่เกินร้อยละ 20 ของค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ฯ ที่เป็นอาคารพ้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุด ซึ่งได้จ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์และมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2558 - 31 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่องกัน นับแต่ปีภาษีที่มีการาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยให้ใช้สิทธิจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปี
       2. ค่าซ่อมแซมบ้านและรถที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย
            2.1 ค่าซ่อมแซมบ้าน
            ค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จ่าย ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 - 31 พฤษภาคม 2560 และระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 - 31 ธันวาคม 2560 หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยทรัพย์สินนั้นได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวและอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่เกิดอุทกภัย
            2.2 ค่าซ่อมแซมรถ
            ค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถที่จ่าย ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 - 31 พฤษภาคม 2560 และระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 - 31 ธันวาคม 2560 หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยรถหรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถเสียหายจากการถูกน้ำท่วมเนื่องจากอุทกภัยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวและอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่เกิดอุทกภัย และต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้เช่าซื้อรถ
       3. ชอปช่วยชาติ หักลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท จากการซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและขอหลักฐานใบกำกับภาษีเต็มรูป ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2560

ตารางแสดงรายการสินค้าและบริการที่สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนทางภาษี

(2) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
     1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
     2. เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

(3) กรณีกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท
     1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของ เงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
     2. เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน