ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก

 ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก มีดังต่อไปนี้

             1. อสังหาริมทรัพย์
             2. หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
             3. เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย ที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้
             4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
             5. ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
             การคำนวณมูลค่าทรัพย์วันที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก
              1. อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน หักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง      
             2. อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ให้คำนวณมูลค่า ดังนี้
                (1) กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในประเทศซึ่งมีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายของประเทศนั้น
                (2) กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในประเทศซึ่งไม่มีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้ใช้ราคาที่รับรองโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับการรับรองหรือความเห็นชอบให้เป็นผู้มีสิทธิประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
                (3) กรณีอื่น ๆ ให้ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก
            3. หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก (2) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
            4. หลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ใช้มูลค่าดังต่อไปนี้
                4.1 หุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น เว้นแต่ ในกรณีทรัพย์มรดกที่เป็นหุ้นนั้นเป็นหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งไปถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ให้ถือมูลค่าหุ้นดังนี้
                    (1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอามูลค่าที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก ระหว่างมูลค่าดังต่อไปนี้
                          (ก) มูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
                          (ข) มูลค่าทางบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
                    (2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ ให้ถือเอาราคาหรือมูลค่าที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก ระหว่างราคาหรือมูลค่าดังต่อไปนี้
                          (ก) มูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
                          (ข) ราคาหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นนั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก
                    (3) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น เกินกว่า 1 แห่ง ให้ถือเอาราคาหรือมูลค่าที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก ระหว่างราคาหรือมูลค่าดังต่อไปนี้
                          (ก) ให้นับรวมราคาหรือมูลค่าหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ๆ
                          (ข) มูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
                4.2 ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ให้ใช้มูลค่าดังต่อไปนี้
                    (1) กรณีที่มีการจำหน่ายครั้งแรกต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ให้ใช้ราคาที่จำหน่ายครั้งแรก
                    (2) กรณีที่มีการจำหน่ายครั้งแรกไม่ต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ให้ใช้ราคาไถ่ถอน
                4.3 หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก
                4.4 หลักทรัพย์อื่น ให้ถือตามราคาหรือมูลค่าในวันที่ได้รับมรดก

            5. ยานพาหนะ
                (1) รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ให้ใช้ราคาประเมินราคารถสำหรับปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ในการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายรถดังกล่าวที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้คำนวณมูลค่าตามราคาเฉลี่ย ระหว่างราคาประเมินสูงสุด และราคาประเมินต่ำสุดของราคาประเมินรถ ในกรณีไม่มีมูลค่าตามราคาประเมินให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น
สำหรับมูลค่าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพของประเทศนั้น ๆ เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น
                (2) เรือ หรือเครื่องบิน ให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพของประเทศนั้น ๆ เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น
                (3) กรณีนอกเหนือจาก (1) และ (2) ให้ถือตามราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก  
            6. เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืน หรือมีสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ การคำนวณมูลค่าให้ถือเอามูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับจากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดกนั้น
                กรณีมูลค่ามรดกที่ได้รับเป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย โดยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ซื้อขายกับลูกค้า ซึ่งเป็นอัตราซื้อถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศและเผยแพร่เมื่อสิ้นวันทำการของแต่ละวัน ในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย เพื่อคำนวณภาษีการรับมรดกสำหรับมรดกที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศ

ภาษีการรับมรดก

ภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยที่ผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี และมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า เพราะรับภาระภาษีตามสัดส่วนมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับ

ความหมายของภาษีการรับมรดก
คำว่า “มรดก” ในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มิได้กำหนดความหมายของมรดกไว้โดยเฉพาะ อ้างอิงความหมายตามมาตรา 1599-1600 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวไว้ว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้น ย่อมตกทอดแก่ทายาททันที โดยมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทายาทของผู้ตายต้องรับสืบทอดหนี้สินของผู้ตายไปพร้อมกับทรัพย์สินเพื่อความเป็นธรรม จึงกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบไว้เพียงไม่เกินมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับมา
        กองมรดกของผู้ตาย ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย หรือโดยพินัยกรรม
        1. ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตามลําดับที่กฎหมายกําหนดไว้
        2. ทายาทโดยพินัยกรรม ได้แก่ ผู้รับพินัยกรรม
        ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดก แต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
        กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีการรับมรดก
         - ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก มาตรา 1599 - มาตรา 1755
        - พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
        - พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558
        - พระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 


ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก


ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท สำหรับผู้รับมรดก ดังนี้


      1.   บุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้

           (1) บุคคลผู้มีสัญชาติไทย

           (2) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

           (3) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

            บุคคลธรรมดาตาม (1) (2) ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศ

           บุคคลตาม (3) ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

      2. นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ได้แก่ นิติบุคคลที่ถือว่าเป็นบุคคลมี่มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ดังต่อไปนี้

          (1) เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือ

          (2) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย หรือ

          (3) เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก หรือ

          (4) เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด

          นิติบุคคลตาม (1) – (4) ให้เสียภาษีการรับมรดกจากมรดกที่ได้รับเป็นทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศ
       
      3. กรณีผู้ที่ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคลที่มิได้ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตาม 2. แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย